"กรุงเทพฯ" กำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 อย่างยิ่งใหญ่ด้วยระบบขนส่งแบบรางกับรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงมาจากยุคที่มีระบบการขนส่งโดยเรือกับแม่น้ำในศตวรรษแรก มาสู่ระบบสัญจรด้วยรถยนต์บนถนนในศตวรรษที่ 2 จนกระทั่งในปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่ระบบรางอย่างแท้จริงในอนาคต  หลังจากมีนโยบายการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายขึ้น ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ ผู้คนเข้ามาใช้ชีวิตสังคมเมืองมากขึ้น มีการยกระดับชีวิตที่มีความสะดวกสบายโดยการหาคอนโดมิเนียมที่สามารถเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น ควบคู่ไปพร้อมกับการเดินด้วยเท้าไปยังจุดมุ่งหมายในระยะทางที่ไม่ไกลมาก นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงการ "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี" ขึ้น

สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง (UDDC) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการเดินทางด้วยเท้า ในโครงการ "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี" โดยการวางแผนปรับเปลี่ยนทางเดินเท้าที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในระดับปัจเจก อันเนื่องมาจากผู้คนบางส่วนไม่นิยมเดินทางด้วยเท้า ด้วยเหตุผลหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการเดิน เช่น ความไม่ปลอดภัย ทางเดินไม่เรียบ สกปรก มีสิ่งกีดขวาง ฯลฯ นั่นเป็นเสียงสะท้อนที่ได้จากการศึกษาของโครงการที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางเดินให้เป็น "เมืองเดินดี" ในอนาคต

การปรับปรุงพื้นที่เมือง หรือบางส่วนให้เป็น "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี" เป็นเป้าหมายของการพัฒนาเมือง ซึ่งเมืองต่างๆ ทั่วโลกก็ให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในเชิงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประหยัดพลังงานการรักษาสภาพแวดล้อม และการแก้ปัญหาจราจร นอกจากนั้นยังสามารถส่งเสริมสุขภาวะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้พร้อมๆ กัน ซึ่งมหานครและเมืองใหญ่ทั่วโลกมุ่งพัฒนาสู่ "เมืองเดินดี" หรือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดิน จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนเป็นวิธีการหลักในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน เมืองพอร์ตแลนด์ เป็นต้น เมืองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สภาพแวดล้อมน่าอยู่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ได้กล่าวถึงโครงการว่า สองคำในชื่อโครงการนั้นมีนัยต่างกัน เมืองเดินได้ คือ การเดินไปยังจุดมุ่งหมายได้ แต่เมืองเดินดี คือ การเดินในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและสะดวกในการเดิน ซึ่งแนวคิดนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้กรุงเทพฯ สร้างรูปแบบการพัฒนาได้อย่างทั่วถึง คือ การทำให้คนสามารถเดินไปที่ใดก็ได้ด้วยเท้า ประกอบการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและจักรยาน

"เพราะการเดินเท้าเป็นการสัญจรที่เป็นอิสระมากที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่แม้แต่จักรยานก็ยังมีเงื่อนไขในการหาที่จอด คือ การเดินเท้านั้นเป็นการประหยัด ออกกำลังกาย และไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ทางด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ คือ เป็นมิตรกับธุรกิจเล็กๆ ข้างทาง เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระดับท้องถิ่น ทำให้คนสามารถพบปะกับผู้คน พบปะกับสิ่งรอบกาย ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้นจึงมีคนพูดกันบ่อยว่าเมืองใดที่ขาดพื้นที่ทางเท้า หรือพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ เมืองนั้นยากที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นได้ เพราะฉะนั้น "เมืองที่เดินได้และเดินดี" จึงเป็นเมืองที่ดีและเป็นที่มาของโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม"

ดร.นิรมลกล่าวอีกว่า การสร้างวัฒนธรรมการเดินเท้าให้คนกรุงเทพฯ ในความคิดของผู้คนทั่วไปจะคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาคติ เพราะจากการสุ่มตัวอย่างในระยะที่ 1 ของโครงการนั้นพบว่า ระยะทางที่คนกรุงเทพฯ เดินไกลที่สุดนั้นคือ 800 เมตร ในงานวิจัยด้านผังเมืองก็มีการค้นพบว่า ตั้งแต่มีระบบขนส่งมวลชนทำให้คนนิยมเดินมากขึ้นถึง 2 เท่า แต่เสียงสะท้อนจากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ สามารถเดินได้ แต่ติดขัดตรงที่สภาพแวดล้อมไม่น่าเดิน อีกอย่างที่ค้นพบ คือ การมีร้านขายของ แหล่งช็อปปิ้ง สามารถดึงดูดให้คนอยากเดินมากที่สุด รวมทั้งร้านขายเร่ข้างทางเดินก็ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เป็นข้อละเว้นว่าเป็นสิ่งกีดขวางทางเดิน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงเป้าหมายในการสร้างสภาพแวด ล้อมจะต้องบริหารโครงสร้างการออกแบบเสียก่อน"

ในด้านของการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ เผยว่า จากการวางแผนในระยะที่ 1 ได้พิจารณา 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ความสะดวก และความมีชีวิตชีวา ในด้านความปลอดภัย คือ องค์ประกอบหลักๆ ในการพิจารณาคุณภาพทางเดินเท้าของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน้าที่พื้นฐานของทางเดินเท้าซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยปัจจัยที่ควรพิจารณา ได้แก่ ความสว่างไสว สายตาเฝ้าระวัง (สายตาจากผู้คนระหว่างทางเดิน) และความปลอดภัยจากยวดยานพาหนะ ส่วนด้านความสะดวกเป็นองค์ประกอบรอง ซึ่งพิจารณาความสะดวกสบายในการเดินเท้า จากปัจจัยด้านสัณฐานของทางเท้า ร่มเงา และสิ่งปกคลุม รวมไปถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนทางเท้า และด่านสุดท้าย คือ ความมีชีวิตชีวา เป็นองค์ประกอบเสริมที่เพิ่มศักยภาพความร่มรื่นที่เกิดจากภูมิทัศน์ตลอดทางเดินเท้า และประเภทรูปแบบกิจกรรมที่แสดงถึงความมีชีวิตชีวาบนทางเดินเท้า เช่น ร้านค้าหาบเร่ แผงลอย

"ขณะนี้โครงการได้ดำเนินงานในระยะที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นการศึกษาและพัฒนาดัชนีชี้วัดศักยภาพการเดินเท้า (เมืองเดินดี) ในกรุงเทพฯ และแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงในพื้นที่เมืองสำคัญของประเทศไทย จำนวน 24 เมือง ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเว็บไซต์ GoodWalk.org เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ของโครงการในระยะที่ 1 และ 2 สู่สาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีแผนที่เมืองเดินได้ที่แสดง GoodWalk Score หรือค่าทางเดินได้ของพื้นที่ โดยเลือกใช้สีที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของพื้นที่ แผนที่นี้นอกจากจะใช้เป็นข้อมูลในการเลือกพื้นที่มาพัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้ เมืองเดินดี แล้วยังสามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดสรรสาธารณูปการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะ และนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาย่านน่าอยู่ หรือเป็นข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการเลือกซื้อและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้"

ด้านผลการศึกษา ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ กล่าวว่า ผลการศึกษาเมืองเดินได้ เมืองเดินดี จะนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางการออกแบบภูมิทัศน์ทางสัญจรที่มีคุณภาพ สามารถตอบรับกับการใช้งานของพื้นที่เมืองเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป และยังมีประโยชน์ในเชิงการต่อยอดการศึกษา การวิจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างหลากหลาย อาทิ งานด้านการออกแบบพัฒนาเมือง ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนด้านการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในเมือง เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนบริบททางกายภาพและเศรษฐกิจสังคมของเมืองให้สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป.